บทความ

“ว่ายน้ำเป็น เห็นภัย รู้วิธีรับมือ” ลดความเสี่ยงเด็กจมน้ำ

การจมน้ำ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยวัย 5-14 ปีโดยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา  (ปี 2557 – 2566) มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำถึง 36,503 คน หรือวันละกว่า 10 คน ซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถึง 6,693 คน สาเหตุหลักจากการขาดทักษะการเอาชีวิตรอด การช่วยเหลือที่ไม่ถูกวิธี และการเล่นน้ำโดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งปัญหานี้สามารถป้องกันได้ด้วยการสอนให้เด็กว่ายน้ำเป็น สร้างความตระหนักถึงอันตราย และการเตรียมพร้อมรับมือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

“ว่ายน้ำเป็น” ทักษะชีวิตที่จำเป็น

เด็กในช่วงวัยนี้มีความอยากรู้อยากเห็นและชอบสำรวจสิ่งใหม่ ๆ แต่ยังขาดทักษะการประเมินความเสี่ยง การว่ายน้ำจึงเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยชีวิตในยามฉุกเฉิน โดยการเริ่มสอนว่ายน้ำ ควรให้เด็กเริ่มเรียนว่ายน้ำ ตั้งแต่อายุ 4-5 ปี ภายใต้การดูแลของผู้ฝึกสอนที่มีความเชี่ยวชาญ ฝึกสม่ำเสมอเพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับน้ำ ฝึกในสถานที่ที่ได้มาตรฐาน มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต และมีผู้ดูแลที่ผ่านการอบรม

“เห็นภัย” ตระหนักถึงความเสี่ยงการจมน้ำของเด็ก

  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักจะจมน้ำจากการที่ทรงตัวไม่ดี ทำให้ศีรษะทิ่มลงไปในน้ำได้ง่าย ซึ่งพบว่าเด็ก  ในกลุ่มนี้ มักจมน้ำในแหล่งน้ำในบ้าน เช่น ถังน้ำ โอ่งน้ำ หรือกะละมัง
  • เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป เด็กในวัยนี้ เริ่มเดินออกจากบ้านได้ และพบแหล่งน้ำที่อาจเป็นอันตรายใกล้บ้าน เช่น คูน้ำ บ่อน้ำ หรือแหล่งน้ำอื่น ๆ โดยผู้ดูแลเองก็อาจไม่ทราบถึงอันตรายจากแหล่งน้ำเหล่านี้

 “รู้วิธีรับมือ” คำแนะนำสำหรับผู้ปกครอง

  • สำรวจแหล่งน้ำภายในบ้านและบริเวณใกล้เคียง เช่น คูน้ำ บ่อน้ำ หรือรางระบายน้ำ เพื่อหาจุดที่เป็นอันตราย
  • จัดการพื้นที่เสี่ยง เช่น ทำรั้วรอบสระน้ำหรือแหล่งน้ำที่อาจเป็นอันตราย ติดป้ายคำเตือน ปักธงสัญลักษณ์แสดงพื้นที่อันตราย และจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉินไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง
  • ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดขณะเล่นน้ำ ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำหรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง
  • สอนให้เด็กรู้จักการสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งเมื่อเล่นน้ำหรือเดินทางทางน้ำ
  • ให้เด็กยืนรอให้เรือจอดเทียบท่าอย่างปลอดภัยก่อนที่จะขึ้นหรือลงจากเรือ
  • อ่านและปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำอย่างเคร่งครัด
  • ให้การช่วยเหลือฉุกเฉินตามหลัก “ตะโกน โยน ยื่น” โดยตะโกนขอความช่วยเหลือให้คนรอบข้างมาช่วย ระบุตำแหน่งเด็กให้ชัดเจน โยนสิ่งของที่สามารถลอยน้ำได้ให้เด็กจับ เช่น ห่วงชูชีพ ถังแกลลอนเปล่า และยื่นอุปกรณ์ที่ช่วยดึงเด็กขึ้นจากน้ำ เช่น ไม้ยาว เชือก ผ้าหรือเสื้อที่ผูกต่อกัน รีบนำเด็กขึ้นจากน้ำ และโทรแจ้งหน่วยกู้ชีพ เพื่อให้เด็กได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและปลอดภัย

ทุกชีวิตมีค่า การป้องกันเด็กจมน้ำ จำเป็นต้องอาศัยการสอนทักษะการว่ายน้ำ การสร้างความตระหนักถึงอันตราย และการเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉิน การป้องกันอย่างจริงจังจะช่วยลดความเสี่ยงและการเสียชีวิตจากการจมน้ำ เพื่อให้เด็กทุกคนเติบโตอย่างปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

แหล่งข้อมูล : สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Related posts

Leave a Comment

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Social media & sharing icons powered by UltimatelySocial