บทความ

ตรวจสุขภาพประจำปี สำคัญอย่างไร

ทำไมต้องตรวจสุขภาพประจำปี

สาเหตุหนึ่งของปัญหาสุขภาพ มาจากการละเลยในการดูแลสุขภาพของตนเอง ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรัง การตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จะช่วยค้นหาปัจจัยเสี่ยงและความผิดปกติของร่างกายได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที ป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม และช่วยให้แพทย์ให้การรักษาได้อย่างเหมาะสม ลดความสูญเสียทั้งด้านสุขภาพ และด้านการเงิน

การตรวจสุขภาพแต่ละช่วงวัย…ควรตรวจอะไรบ้าง

การตรวจสุขภาพเบื้องต้น จะแบ่งตามเพศและช่วงวัย โดยแพทย์จะแนะนำให้ตรวจทุก 1 ปี ดังนี้

วัยเด็กและวัยรุ่น (อายุ 0 – 18 ปี)

ตรวจสุขภาพทั่วไป (ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง) ตรวจการได้รับวัคซีน พัฒนาการของร่างกาย การดูแลช่องปากและฟัน โภชนาการและการออกกำลังกายที่เหมาะสม การได้ยิน การใช้ภาษาและการสื่อสาร สติปัญญาและจริยธรรม การช่วยเหลือตัวเองและการเข้าสังคม การค้นหาพฤติกรรมเสี่ยงตามวัย เช่น ปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ ปัญหาครอบครัว เรื่องเพศ ยาและสารเสพติด

วัยผู้ใหญ่  (อายุ 18 – 60 ปี)

ตรวจร่างกายทั่วไป (ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง BMI และวัดความดันโลหิต) ตรวจสายตา ตรวจคัดกรองมะเร็งและโรคที่จำเป็น ได้แก่

  • มะเร็งเต้านม อายุ 30-39 ปี ตรวจทุก 3 ปี /อายุ 40 ปีขึ้นไป ตรวจทุกปี
  • มะเร็งปากมดลูก อายุ 30-65 ปี ตรวจทุก 3 ปี
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ อายุ 50 ปีขึ้นไป ตรวจอุจจาระทุกปี
  • ตรวจเบาหวาน อายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุก 3 ปี ช่วยป้องกันและชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
  • ตรวจไขมันในเลือด อายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุก 5 ปี ช่วยคัดกรองและป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง

วัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป)

ตรวจร่างกายทั่วไป (ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง BMI และวัดความดันโลหิต) ตรวจคัดกรองมะเร็งและโรคที่จำเป็น ได้แก่

  • มะเร็งปากมดลูก ตรวจทุก 3 ปีจนถึงอายุ 65 ปี
  • มะเร็งเต้านม ตรวจทุกปีจนถึงอายุ 69 ปี
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตรวจอุจจาระทุกปี
  • ตรวจสายตา อายุ 60-64 ปี ตรวจทุก 2-4 ปี /อายุ 65 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 1-2 ปี เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการมองไม่เห็น
  • ตรวจปัสสาวะทุกปี เพื่อคัดกรองความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ตรวจหาไขมันในเลือดทุก 5 ปี
  • ตรวจหาเบาหวานทุกปี
  • ตรวจเลือดทุกปีเพื่อดูการทำงานของไต
  • ตรวจประเมินสภาวะสุขภาพ (ด้านโภชนาการ ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกพรุน ภาวะสมองเสื่อม ภาวะซึมเศร้า) เพื่อคัดกรองและได้รับการวินิจฉัยช่วยเหลือที่ถูกต้องและเหมาะสม

การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยค้นหาความเสี่ยงของโรคที่ยังไม่แสดงอาการ เพื่อให้เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการป้องกันโรคและรักษาสุขภาพได้ ทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนของโรค และยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย

แหล่งข้อมูล : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ                 

3 มกราคม 2568

Related posts

Leave a Comment

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Social media & sharing icons powered by UltimatelySocial