วิธีรับมือฝุ่นพิษ พิชิต PM 2.5

ฝุ่น PM 2.5 มีแหล่งกำเนิดจากหลายๆ ปัจจัย เช่น การเผาไหม้จากยานพาหนะ, โรงงาน, การเผาป่า, การก่อสร้าง ซึ่งฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วย ตาเปล่า ดังนั้นเมื่อหายใจเข้าไป สามารถเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดได้ ทำให้อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงตามมา เช่น เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และอาจกระทบต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะ ในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับปอดหรือหัวใจ ดังนั้นเราสามารถรับมือและป้องกันฝุ่น PM 2.5 ในชีวิตประจำวัน ได้ดังนี้
- สวมหน้ากากอนามัยที่มีคุณสมบัติป้องกันฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดในการป้องกันไม่ให้ฝุ่นเล็กๆ เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้หน้ากากที่ควรเลือกใช้ควรมีมาตรฐาน N95 หรือ KN95 เพราะสามารถกรองฝุ่นได้ถึง 95% จึงเหมาะสำหรับการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก
- หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านในช่วงที่มีมีฝุ่น PM 2.5 สูง โดยตรวจสอบค่าคุณภาพอากาศผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ เช่น แอปพลิเคชัน AirVisual, แอปพลิเคชัน“เช็คฝุ่น”ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับค่าฝุ่น PM 2.5 เพื่อที่เราจะได้ทราบค่าฝุ่นว่าอยู่ในเกณฑ์ ที่อันตรายต่อร่างกายหรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านและควรอยู่ในอาคารหรือสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์
- ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในบ้าน โดยควรเลือกเครื่องฟอกอากาศที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับขนาดห้อง และสามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการสูดดมฝุ่นละอองและช่วยสร้างอากาศที่สะอาด ขึ้นในพื้นที่ปิด
- เพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้ ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 เพราะต้นไม้ช่วยดูดซับกลิ่น มลพิษผ่านทางใบ เปลือก ลำต้น มีคุณสมบัติในการดักจับฝุ่นละออง
- ออกกำลังกายในพื้นที่ปลอดฝุ่น สำหรับผู้ที่ต้องการออกกำลังกายในช่วงที่มีปริมาณค่าฝุ่นสูง ควรเลือกสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์หรือในที่ที่มีการระบายอากาศดี เช่น ฟิตเนสที่มีเครื่องกรองอากาศ หรือห้องที่มีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ เพื่อให้ร่างกายได้ออกกำลังกายโดยไม่เสี่ยงต่อการสูดฝุ่น PM 2.5
- ปิดหน้าต่างและประตูในช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 สูง ควรปิดหน้าต่างและประตูของบ้านเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นเข้ามาในบ้านในปริมาณมากเกิน
การป้องกันฝุ่น PM2.5 เป็นสิ่งสำคัญเพื่อปกป้องสุขภาพของเราจากอันตรายของฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ โดยเราสามารถรับมือและป้องกันได้ในชีวิตประจำวัน ด้วยการปรับตัวและใช้วิธีการต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การใช้เครื่องฟอกอากาศ หรือการหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านในช่วงที่ค่าฝุ่นสูง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เราลด ความเสี่ยงต่อการสัมผัสและปลอดภัยจากอันตรายของฝุ่น PM2.5 ได้
แหล่งข้อมูล: กรมการแพทย์