“แค่ยุงกัด…ถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล! จริงหรือ ?”

“เคยมั้ย นั่งกินข้าวอยู่ดี ๆ แล้วได้ยินเสียงหึ่ง ๆ ก่อนจะลงเอยด้วยตุ่มคันหลายจุด”
ฝนตก น้ำขัง ยุงชุม = เสี่ยงโรครุม
ในช่วงฤดูฝนแบบนี้ ที่ทั้งน้ำขังและอากาศชื้น กลายเป็นสวรรค์ของยุง ยุงตัวเล็ก ๆ 1 ตัว ที่เป็นพาหะของโรคอันตรายหลายชนิด เช่น โรคไข้เลือดออกที่คร่าชีวิตคนทุกปี โรคชิคุนกุนยา โรคไข้ซิกา โรคเท้าช้าง โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคไข้เหลือง
ตุ่มคันจากยุงกัด ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ใครจะคิดว่าน้ำลายของยุงที่กัดคุณ อาจแอบพาเชื้อโรคติดมาด้วยเพราะข้อมูลในปี 2567 พบผู้ป่วย โรคไข้เลือดออกสูงกว่า 105,000 ราย ทั่วประเทศ และผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) 715 ราย และกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน อายุ 25-54 ปี
จะป้องกันตัวเองจากยุงได้อย่างไร
- เลือกใช้ยากันยุงให้เหมาะกับผู้ใช้ ยากันยุงมีทั้งประเภทจุด ยาทา และสเปรย์ ควรอ่านฉลากให้ดีก่อนใช้ทุกครั้ง ว่าใช้อย่างไร ใช้กับใครได้บ้าง ป้องกันได้กี่ชั่วโมง
- กางมุ้งนอน ปิดประตู หน้าต่าง หรือติดมุ้งลวดกันยุง
- ถ้าอยู่ในป่า ไร่นา หรือต้องนอนค้างคืนในไร่ ให้ใช้มุ้งชุบน้ำยาหือมุ้งที่เคลือบสารกันยุง
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น ปิดฝาตุ่มน้ำ ขวด แก้ว ให้มิดชิด คว่ำภาชนะหรือถังที่ไม่ได้ใช้
อย่าให้ยุง “เลือกคุณ”
- เลือกเสื้อผ้าโทนสีอ่อน เพราะสีเข้มจะดึงดูดยุงมากกว่า
- สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ใส่ถุงเท้า รองเท้าหุ้มส้น ช่วยปกปิดร่างกาย
- หลีกเลี่ยงน้ำหอมและสบู่กลิ่นแรง (ยุงชอบ)
อาการที่ไม่ควรมองข้าม
อาการของแต่ละโรคอาจแตกต่างกันไปตามระยะของโรค อาการทั่วไปของโรคที่มากับยุง เช่น มีไข้สูงเฉียบพลัน มีผื่นแดง ปวดหัว ปวดเมื่อยร่างกาย อ่อนเพลีย โดยหากอาการเหล่านี้ไม่ดีขึ้นใน 1-2 วัน หรือสงสัยว่าจะเป็นโรคที่เกิดจากยุง ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อรักษาอย่างถูกวิธีตามชนิดของโรค
“ตุ่มเล็ก ๆ จากยุง อาจนำพาโรคร้ายใหญ่กว่าที่คิด”
ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าโรงพยาบาลเพราะยุงกัด แต่คนที่เคยเข้าแล้วอาจอยากบอกคุณว่า “รู้งี้…ป้องกันตั้งแต่แรกก็ดีแล้ว” ดังนั้น อย่าชะล่าใจ ป้องกันไว้ก่อนดีกว่าต้องรักษา เพราะบางครั้งแค่ยุงกัด… ก็ถึงขั้นเข้าโรงพยาบาลได้จริง
แหล่งข้อมูล : คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข