บทความ

ใช้ชีวิตพอดี คือวิธีลดโรค

การรู้จักป้องกันโรคอย่างถูกวิธี จะช่วยควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้ ความพอดี คือ  การสร้างความสมดุล ความเหมาะสม ร่างกายของเรามีกลไกในการปรับสมดุลเพื่อต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ การใช้ชีวิต อย่างพอดี จึงเป็นวิธีลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้ ด้วยการปฏิบัติตามข้อแนะนำ ดังนี้

  1. กินให้พอดี ไม่อดข้าว อดน้ำ กินอาหารให้ตรงเวลา ช่วยป้องกันโรคกระเพาะอาหารได้ ไม่กินมากเกินไปหรือน้อยเกินไป กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และหลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนในปริมาณที่เพียงพอ
  2. ขยับร่างกายให้พอดี เปลี่ยนอิริยาบถทุก ๆ 30 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาทและหลอดเลือด เกิดความยืดหยุ่นและทำงานได้เป็นปกติ เพราะการนั่งทำงานนาน ๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบท ทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาทและหลอดเลือดทำงานไม่ปกติ และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 วัน วันละอย่างน้อย 30 นาที
  3. ทำงานให้พอดี หลีกเลี่ยงการทำงานเกินกำลังที่ร่างกายจะรับได้ งานที่ต้องใช้แรงงานหนัก เช่น งานยกของ งานดึงและดัน หรือแม้แต่งานเบาที่ต้องอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ เช่น นั่งทำงานคอมพิวเตอร์นานต่อเนื่องเกิน 2 ชั่วโมงขึ้นไป ทำให้เกิดการล้าที่กล้ามเนื้อคอ บ่า หลัง ข้อศอกและมือได้ เป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและข้อต่อ จึงควรกำหนดเวลาพัก แบ่งงานเป็นช่วง ๆ ที่เหมาะสมให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ
  4. ควบคุมอุณหภูมิให้พอดี ไม่ทำให้ร่างกายกระทบความร้อนและความเย็นแบบทันที เช่น เมื่ออยู่ในห้องแอร์แล้วต้องออกไปตากแดด ให้ยืนอยู่ในร่มสักครู่ เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพก่อนเดินออกไป  กลางแดด และก่อนกลับเข้ามาในห้องแอร์ควรหยุดพักในที่ร่ม หรือที่ที่อากาศถ่ายเทสักครู่เช่นกัน เพื่อให้ร่างกายปรับตัวตามอุณหภูมิได้ทัน
  5. จัดการอารมณ์ให้ได้ ความทุกข์ ความเครียดส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วย เช่น ปวดหัว  คลื่นไส้ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ความดันโลหิตสูง วิตกกังวล ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย เป็นต้น ต้องรู้จักปล่อยวางจากความเศร้าเสียใจ หรือความโกรธที่อาจส่งผลให้ร่างกายทรุดโทรม จัดการอารมณ์ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ฝึกผ่อนคลาย ทำสมาธิ ลองพูดคุยกับเพื่อนเพื่อระบายความเครียด หรือทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ
  6. จัดการกับของเสียให้ดี ไม่กลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะ เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับของเสียที่ต้องขับออกไปกลับเข้ามาในร่างกายเหมือนเดิมกลายเป็นสารพิษหมักหมม สะสมให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ การจัดการของเสียในร่างกายสามารถทำได้โดย ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ กินผัก ผลไม้ ช่วยเพิ่มกากใยในอาหารและฝึกขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

การดูแลร่างกายด้วยวิธีการใช้ชีวิตให้พอดี จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคภัยไข้เจ็บช่วยทำให้มีสุขภาพที่ดี นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพประจำปี จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ทราบความสมบูรณ์ของร่างกาย ตรวจพบความผิดปกติของร่างกาย ช่วยป้องกันโรคและบรรเทาความรุนแรงของโรคต่าง ๆ ได้

แหล่งที่มา :  

1) กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

2) สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์แห่งประเทศไทย

3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

4) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

Related posts

Leave a Comment

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Social media & sharing icons powered by UltimatelySocial