บทความ

“ยาลูกกลอน” ใช้อย่างไร…ปลอดภัยต่อสุขภาพ

“ยาลูกกลอน” อีกหนึ่งรูปแบบยาแผนโบราณ ที่เกิดจากการนำสมุนไพรมาบด แล้วนำผงยาที่ได้ มาคลุกเคล้ากับน้ำผึ้งจนยึดเกาะกัน ปั้นเป็นเม็ดกลม สมัยโบราณใช้วิธีตากแดดจนแห้งสนิทแล้วเก็บใส่ขวดโหลสามารถเก็บไว้กินได้นาน ปัจจุบัน ชื่อของยาลูกกลอน ถูกผู้ค้าบางส่วน นำมาแสวงหาผลกำไร โดยไม่คำนึงถึงผลเสียต่อสุขภาพ ทำการลักลอบใส่สเตียร์รอยด์ในยาแผนโบราณ สเตียรอยด์ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ทางการแพทย์ มีคุณสมบัติที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น ต้านการอักเสบ ลดอาการปวด ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานเป็นปกติ เป็นต้น จึงทำให้ถูกนำใช้ในการโอ้อวดว่ารักษาได้สารพัดโรค โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคกระดูกและข้อ ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ  ซึ่งส่วนมากตรวจพบสเตียร์รอยด์ผสมอยู่ในยาลูกกลอนที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อีกทั้งสร้างการจูงใจ หลอกล่อ และใช้ชื่อเรียกต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงผู้ใช้ได้ง่าย เช่น ยาประดง ยาหมอ ยาเบอร์ เป็นต้น

ผู้ใช้ยาลูกกลอนที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียน จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ คือ เริ่มแรกอาการจะดีขึ้น  ผู้ใช้ยาจึงหลงเชื่อและใช้ยาต่อเนื่อง แต่เมื่อใช้ในระยะยาวจะเป็นอันตราย ทำให้เกิดอาการกระเพาะทะลุ กระดูกพรุน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ความดันโลหิตสูง หรือเกิดอาการข้างเคียงต่าง ๆ เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เป็นสิว ขนดก ใบหน้ากลม มีรอยปริแตกตามผิวหนัง ไตวาย จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น เมื่อต้องการใช้ยาแผนโบราณ  มีข้อควรคำนึงถึง ดังนี้

  1. ซื้อยาจากร้านขายยาที่มีใบอนุญาตขายยาเท่านั้น
  2. ก่อนซื้อต้องดูเลขทะเบียนตำรับยา อย่าซื้อยาชุด ยาลูกกลอนที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา            
  3. ไม่ซื้อยาแผนโบราณจากรถเร่ขายตามวัดหรือตามตลาดนัด เพราะอาจเป็นยาปลอม หรือลักลอบผสมยาแผนปัจจุบัน
  4. ไม่ซื้อยาแผนโบราณตามคำโฆษณาชวนเชื่อเพราะเป็นการโอ้อวดเกินจริง
  5. เมื่อเจ็บป่วย ควรปรึกษาแพทย์ และหากสงสัยว่ายาที่ซื้อมีสารสเตียรอยด์ให้แจ้งหรือสอบถามเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อตรวจสอบต่อไป

การใช้ยาแผนโบราณเป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาและการดูแลสุขภาพตามภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่หากไม่ระมัดระวังในการเลือกใช้ ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึง ส่วนประกอบของยา ข้อควรระวัง หากใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็ก หรือผู้มีโรคประจำตัว และต้องสังเกตอาการผิดปกติจากการใช้ยาด้วย การใช้ยาจึงจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมจากเภสัชกรหรือ  ร้านขายยาที่มีใบอนุญาต เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

แหล่งข้อมูล :

  1. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
  2. คลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

Related posts

Leave a Comment

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Social media & sharing icons powered by UltimatelySocial