บทความ

เลือกสารฉีดหน้าให้เหมาะกับสภาพปัญหาผิว

บทความโดย
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วาสนภ วชิรมน
สาขาวิชาโรคผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

ปัจจุบันกระแสการฉีดสารหรือยาเข้าสู่ผิวหนังเพื่อช่วยในการรักษารวมทั้งการเสริมความงามเป็นสิ่งที่กำลังเป็นที่นิยมกันมาก ซึ่งสารแต่ละตัวมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป ดังนั้นประชาชนจึงควรทำความเข้าใจเพื่อเลือกสารให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาของแต่ละราย โดยในบทความนี้จะขอแบ่งชนิดของสารฉีดตามวัตถุประสงค์และกลไกการทำงาน

1.สารฉีดเพื่อลดริ้วรอยจากการขยับของกล้ามเนื้อ
ในที่นี้หมายถึงสารที่ฉีดเพื่อลดรอยย่นของใบหน้า เช่น รอยย่นของหน้าผากจากการเลิกหน้าผาก รอยที่หางตาที่เกิดจากการยิ้มมาก ๆ รอยขมวดคิ้ว ในกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้สารที่มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ เนื่องจากสภาพปัญหาเกิดจากการที่กล้ามเนื้อบีบตัวมากเกินไป สารกลุ่มนี้ที่นิยมใช้ได้แก่สารโบทูลินุ่ม ท๊อกซิน (Botulinum toxin) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่าฉีดโบ นอกจากนี้ยังมีการนำสารกลุ่มนี้มาใช้ในทางการแพทย์เพื่อคลายกล้ามเนื้อบริเวณอื่น ๆ อีกด้วย เช่น กล้ามเนื้อกรามเพื่อแก้ปัญหาการกัดฟันบ่อย ซึ่งทำให้ได้ผลพลอยคือกล้ามเนื้อกรามขนาดลดลง ทำให้ใบหน้าดูเล็กลง หรือคลายกล้ามเนื้อน่อง กรณีที่กล้ามเนื้อน่องมีการหดเกร็ง เป็นต้น

2.สารฉีดเพื่อเพิ่มปริมาตรผิว
เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเนื้อผิวหนังฝ่อตัวลง เช่นไขมันในกล้ามเนื้อฝ่อลง ชั้นหนังแท้ฝ่อตัวลง เป็นต้น สารกลุ่มนี้อาจเรียกรวมว่าสารฟิลเลอร์ ที่นิยมใช้และพบว่าปลอดภัยได้แก่ สารกลุ่มเอชเอ (HA) หรือย่อมาจากไฮยาลูโรนิค แอซิด (Hyaluronic acid) ซึ่งความสามารถในการเพิ่มปริมาตรของผิวจะขึ้นกับกระบวนการผลิตรวมทั้งความเข็มข้นของสารเอชเอ นอกจากนี้ยังมีการนำสารกลุ่มนี้มาฉีดเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในผิว ซึ่งเหมาะสำหรับกรณีที่ผิวหนังขาดความชุ่มชื้นหรือที่เรียกว่าผิวหนังขาดน้ำ แต่กระบวนการผลิตและความเข้มข้นของสารออกฤทธิ์อาจมีความแตกต่างกับการฉีดเพื่อเพิ่มปริมาตรชั้นผิว

3.สารฉีดเพื่อเพิ่มคอลลาเจนในผิว
สารกลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสารคอลลาเจนให้ผิวหนัง ตัวอย่างสารในกลุ่มนี้ได้แก่ โพลีนิวคลีโอไทด์ (Polynucleotide) โพลีคาโพรแลคโตน (Polycaprolactone) โพลีแอลแลคติกแอซิด (Poly-L Lactic aicd) โพลีดีแอลแลคติกแอซิด (Poly-D-L Lactic acid) แคลเซียมไฮดรอกซี่อะพาไทท์ (Calcium hydroxyapatite) สารกลุ่มนี้มีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันไป เช่น โพลีนิวคลีโอไทด์และแคลเซียมไฮดรอกซี่อะพาไทท์จะออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นเซลล์ที่สร้างสารคอลลาเจนในผิวหนัง ในขณะที่โพลีคาโพรแลคโตน โพลีแอลแลคติกแอซิด และโพลีดีแอลแลคติกแอซิด จะออกฤทธิ์โดยกระตุ้นให้เกิดการอักเสบภายในผิวหนังและมีการซ่อมแซมเนื้อเยื่อรวมทั้งการสร้างคอลลาเจนใหม่ ผู้ที่เหมาะกับการฉีดสารกลุ่มนี้ได้แก่ผู้ที่มีปัญหาเรื่องผิวหนังหย่อน ไม่เต่งตึง รวมทั้งริ้วรอยที่เกิดจากผิวหนังหย่อนตัว

4.สารฉีดเพื่อลดไขมัน
หรือที่นิยมเรียกว่าเมโสแฟท สารกลุ่มนี้ที่นิยมใช้เช่น ฟอสฟาติดิลโคลีน (Phosphatidylcholine) เป็นต้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันสารกลุ่มนี้ #ยังไม่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาในประเทศไทยเพื่อการฉีด แต่ผ่านการรับรองสำหรับการทาภายนอกเท่านั้น #ดังนั้นผู้รับการฉีดอาจต้องศึกษาข้อมูลก่อนรับการรักษาอย่างละเอียด

5.สารกลุ่มเอ็กโซโซม (Exosome)
เป็นกระบวนการนำสารออกฤทธิ์เก็บกักไว้ในถุงหุ้มสาร โดยสารออกฤทธิ์มีวัตถุประสงค์เพื่อซ่อมแซมผิวหนังเพื่อให้การทำงานของเซลล์ผิวหนังดีขึ้น อย่างไรก็ตาม #สารกลุ่มเอ็กโซโซมในปัจจุบันยังไม่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาในประเทศไทยเพื่อการฉีด แต่ผ่านการรับรองสำหรับการทาภายนอกเท่านั้นเนื่องจากต้องการข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระยะยาว

จะเห็นได้ว่าสารฉีดผิวมีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาและฟื้นฟูผิวหนังแตกต่างกันไป ในบางรายอาจต้องได้รับการฉีดหลายสารหากมีสภาพปัญหาหลายชนิด ดังนั้นผู้รับการฉีดจึงควรมีความเข้าใจเบื้องต้นก่อนรับการรักษา เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ตรงจุดและคุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก facebook หมอชวนรู้

Related posts

Leave a Comment

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Social media & sharing icons powered by UltimatelySocial