ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
บทความโดย
ผศ. นพ.กฤษฎา วุฒิการณ์
หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
ภาวะโลหิตจาง
เป็นภาวะที่ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าระดับปกติ สาเหตุของภาวะโลหิตจางมีหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจากภาวะการขาดเกลือแร่วิตามิน ความผิดปกติของพันธุกรรมต่าง ๆ ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกตัว ไปจนถึงความผิดปกติของไขกระดูก โดยภาวะโลหิตจางที่พบบ่อยที่สุดคือ ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งพบได้ในทุกช่วงอายุ และก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพแก่ผู้ป่วย ตลอดจนเป็นภาระทางสาธารณสุข มีการประมาณการว่าประชากรทั่วโลกประมาณ 2 พันล้านคนมีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก อุบัติการณ์ในการเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กพบมากที่สุดในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี รองลงมาคือ กลุ่มผู้หญิงวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์
ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
เกิดจากการที่ร่างกายมีปริมาณธาตุเหล็กสะสมน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดแดงได้เพียงพอ นอกจากนี้เม็ดเลือดแดงที่สร้างขึ้นมามีขนาดรวมถึงรูปร่างที่ผิดปกติไป ส่งผลทำให้เกิดอาการของภาวะโลหิตจางจากความบกพร่องของการทำงานของอวัยวะ เช่น อาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ อาการเหนื่อย หรือเป็นลมหมดสติ ไปจนถึงหัวใจล้มเหลวได้
ในกรณีที่ภาวะโลหิตจางรุนแรง
สาเหตุของภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
นั้นเกิดจากการที่ร่างกายมีภาวะขาดดุลธาตุเหล็ก ทำให้ปริมาณเหล็กสะสมในร่างกายพร่องลงจนมีระดับต่ำในที่สุดโดยภาวะขาดดุลเหล็กนั้นมีหลายสาเหตุพบได้ทั้งในภาวะปกติและภาวะผิดปกติ
โดยมีกลไกหลัก 3 กลไก ได้แก่
- การสูญเสียเหล็กจากการเสียเลือด โดยเฉพาะการเสียเลือดเรื้อรัง
- ความต้องการธาตุเหล็กของร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ
- ความผิดปกติในการดูดซึมธาตุเหล็กของทางเดินอาหาร
ทั้งนี้กลไกของการขาดธาตุเหล็กที่สำคัญที่สุดอันนำไปสู่ ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในผู้ใหญ่ คือ การสูญเสียเหล็กจากการเสียเลือดเรื้อรัง โดยการเสียเลือดทำให้มีการสูญเสียธาตุเหล็กจากเม็ดเลือดแดงไป ทำให้มีสมดุลธาตุเหล็กเป็นลบ จากการที่มีปริมาณธาตุเหล็กที่เสียไปจากร่างกายมากกว่าปริมาณธาตุเหล็กที่ร่างกายได้รับเพิ่มจากอาหารในแต่ละวัน เมื่อมีการเสียเลือดเป็นเวลานานทำให้มีภาวะพร่องธาตุเหล็กในที่สุด
โดย ภาวะโลหิตจางจากการธาตุเหล็กที่เกิดจากการเสียเลือดเรื้อรัง พบมากในสตรีวัยเจริญพันธุ์ผ่านการเสียเลือดประจำเดือน โดยเฉพาะในคนที่มีเลือดประจำเดือนปริมาณมากจากสาเหตุต่าง ๆ ในขณะที่ภาวะขาดเหล็กในผู้ชาย และสตรีวัยหลังหมดประจำเดือนนั้น สาเหตุของภาวะโลหิตจางจากการขาดเหล็ก ส่วนใหญ่เกิดจากการเสียเลือดในทางเดินอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร การใช้ยาแก้ปวดอักเสบที่ระคายเคือง ทางเดินอาหาร หรือการมีรอยโรคในลำไส้ (เช่น ติ่งเนื้อ มะเร็ง หรือพยาธิ) เป็นต้น
การรักษา
ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยยืนยันว่ามีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก การรักษาประกอบไปด้วย
การให้ธาตุเหล็กเสริมเพื่อให้สมดุลธาตุเหล็กกลับมาเป็นบวก และมีทดแทนปริมาณธาตุเหล็กสะสมให้กลับมาปกติ นอกจากการให้ธาตุเหล็กเสริมแล้ว จำเป็นต้องหาสาเหตุของการเสียเลือดเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษาสูตินรีเวชเพื่อหาสาเหตุของการมีเลือดประจำเดือนมากผิดปกติในผู้ป่วยหญิงวัยเจริญพันธุ์ หรือการปรึกษาแพทย์ระบบทางเดินอาหารเพื่อทำการตรวจหารอยโรคในทางเดินอาหารในผู้ป่วยชาย หรือหญิงหลังหมดประจำเดือน เพื่อรักษาสาเหตุของการเสียเลือดเรื้อรัง
นอกเหนือจากภาวะเสียเลือดเรื้อรังแล้ว สาเหตุของภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กที่พบได้ดังกล่าวเบื้องต้นคือ การที่ร่างกายมีความต้องการธาตุเหล็กมากกว่าปริมาณธาตุเหล็กที่ได้รับจากอาหารในแต่ละวัน ซึ่งเกิดขึ้นได้ในบางภาวะ เช่น ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี, วัยรุ่นในระยะที่มีการเติบโตของร่างกายอย่างรวดเร็ว, สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร โดยในภาวะเหล่านี้ ร่างกายมีความต้องการธาตุเหล็กปริมาณมากเพื่อใช้ในการสร้างเสริมร่างกาย ทำให้ปริมาณธาตุเหล็กที่ได้รับจากอาหารนั้นอาจไม่เพียงพอ
สำหรับภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก นั้นพบได้น้อย ส่วนใหญ่พบได้ในผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดกระเพาะ หรือทางเดินอาหาร ทำให้มีความบกพร่องในการดูดซึมธาตุเหล็ก
โดยสรุปภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กเป็นภาวะที่พบได้บ่อย และเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญทางสาธารณสุข เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพื่อหาสาเหตุของการขาดธาตุเหล็ก การรักษาสาเหตุ และการให้ธาตุเหล็กเสริมอย่างเหมาะสม ทั้งนี้การให้ธาตุเหล็กเสริมนั้นสามารถให้ในรูปแบบรับประทาน หรือทางหลอดเลือดดำแล้วแต่ข้อบ่งชี้และสาเหตุของภาวะพร่องธาตุเหล็ก ซึ่งผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับข้อมูลเพิ่มเติมได้
ขอบคุณข้อมูลจาก facebook หมอชวนรู้