“ไม่อยากความดันสูง…เริ่มต้นยังไงดี ?”

ความดันโลหิตสูง หนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โรคนี้ได้ชื่อว่าเป็น “ฆาตกรเงียบ” และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการใด ๆ จนกว่าจะสายเกินแก้ บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน หรือเหนื่อยง่ายผิดปกติ และหากปล่อยไว้โดยไม่รักษา ยังเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงที่ตามมา เช่น อัมพฤกษ์-อัมพาต โรคหัวใจ และโรคไตเรื้อรังอีกด้วย
7 ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ความดันโลหิตสูง
- อายุมากขึ้น ความดันเลือดจะเพิ่มสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น
- ความเครียดสะสม อารมณ์เครียดส่งผลให้ความดันเลือดพุ่งสูงผิดปกติ
- พันธุกรรม ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูง
- ชอบกินเค็ม การกินเกลือหรืออาหารที่มีรสเค็มจัดเป็นประจำ
- โรคประจำตัวเรื้อรัง เป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือมีไขมันในเลือดสูง
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เป็นประจำ
- นอนไม่พอ การนอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืน จะเพิ่มความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง
ไม่อยากความดันโลหิตสูง ? เริ่มต้นปรับชีวิตแบบง่าย ๆ ตามนี้เลย!
- เติมพลังด้วยผักและผลไม้ที่ใช่ เพิ่มโพแทสเซียมในเมนูของคุณ เช่น ฟักทอง บรอกโคลี ผักโขม มะเขือเทศ มะละกอ กล้วย มะม่วง ฝรั่ง เป็นต้น
- เลือกอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมและเส้นใยอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ ถั่วแดง เต้าหู้ และงา
- อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง มองหาผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำ
- ขยับตัว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย สัปดาห์ละ 3-5 วัน วันละอย่างน้อย 30 นาที
- ลดน้ำหนัก สร้างสุขภาพใหม่ โดยลดหรือควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- จัดการกับความเครียด ฝึกการผ่อนคลาย เช่น การหายใจลึก ๆ สมาธิบำบัด หรือโยคะ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- เลิกพฤติกรรมเสี่ยง ลด ละ เลิก แอลกอฮอล์และบุหรี่
- ลดความเค็มในอาหาร ชิมก่อนปรุง ลองใช้เครื่องเทศ เช่น มะนาว กะเพรา พริก ปรุงอาหารแทน
- ตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
การเริ่มต้นดูแลสุขภาพอาจฟังดูยาก แต่เพียงเปลี่ยนแปลงทีละน้อย จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูง และมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ “จำไว้เสมอว่า การป้องกันดีกว่าการรักษา และทุกการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ วันนี้ จะนำไปสู่สุขภาพที่ดีในวันข้างหน้า”
แหล่งข้อมูล : สภากาชาดไทย, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์