บทความ

วัดระดับ “กิจกรรมทางกาย” ขยับเคลื่อนไหว ห่างไกลโรค NCDs

ความสะดวก สบาย ในการใช้ชีวิต ทำให้เราเคลื่อนไหวร่างกายและทำกิจกรรมน้อยลง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรค NCDs เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้ คือ สาเหตุหลักของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

กิจกรรมทางกาย คืออะไร ?

กิจกรรมทางกาย คือ การเคลื่อนไหวร่างกายในทุกอิริยาบถในชีวิตประจำวัน เช่น การนั่ง ยืน เดิน วิ่ง ทำงาน ส่วนการออกกำลังกาย เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางกายโดยการเคลื่อนไหวร่างกายซ้ำ ๆ จากการวางแผนที่ชัดเจนและจำเพาะ

กิจกรรมทางกายของคุณ อยู่ในระดับใด ?

  1. ระดับนิ่งเฉย คือ กิจกรรมที่ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น นั่งเฉย ๆ นั่งดูทีวี นอนหลับ นั่งประชุม นั่งขับรถ นั่งสวดมนต์
  2. ระดับน้อย คือ การเคลื่อนไหวร่างกายที่ออกแรงน้อย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น เดินระยะทางสั้น ๆ ล้างจาน พับผ้า โยคะ รดน้ำต้นไม้ ยืนบนรถโดยสาร
  3. ระดับปานกลาง คือ การเคลื่อนไหวร่างกายที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยปานกลาง หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้น หน้าแดงมีเหงื่อซึม ยังสามารถพูดเป็นประโยคได้ เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน เดินขึ้นลงบันได ทำสวน
  4. ระดับหนัก คือ การเคลื่อนไหวร่างกายที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยมาก หน้าแดงและมีเหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็วมาก จนไม่สามารถ พูดเป็นประโยคได้ เช่น ขัดห้องน้ำ ยกของหนัก วิ่งเร็ว ว่ายน้ำเร็ว กระโดดเชือก ปั่นจักรยานเร็วระยะไกล

ทำกิจกรรมทางกายอย่างไร ให้เหมาะสมกับช่วงวัย

  1. เด็กและเยาวชน (อายุ 5-17 ปี) ควรทำกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงระดับหนัก สะสมให้ได้ อย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน เช่น กิจกรรมนันทนาการ เล่นกีฬา พละศึกษา กิจกรรมในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน
  2. ผู้ใหญ่ (อายุ 18-59 ปี) ควรทำกิจกรรมทางกายระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือกิจกรรมทางกายระดับหนักอย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์
  3. ผู้สูงอายุ (60 ปี ขึ้นไป) ควรทำกิจกรรมทางกายระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือกิจกรรมทางกายระดับหนักอย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์

การทำกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ เพื่อการมีสุขภาพที่ดี ควรทำต่อเนื่องอย่างน้อย 10 นาทีขึ้นไป ที่ระดับปานกลางถึงระดับหนัก สำหรับผู้ที่มีกิจกรรมทางกายน้อย ควรเพิ่มกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน เช่น การลุกขึ้นยืน หรือขยับเคลื่อนไหวร่างกายจากการนั่งทำงานทุก 1-2 ชั่วโมง การเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ การใช้ขนส่งสาธารณะ และออกกำลังกายด้วยการเดิน แต่หากไม่เคยทำมาก่อน ควรเริ่มจากกิจกรรมที่เบาไปหาหนัก และจากช้าไปเร็ว ควบคู่กับการกินอาหารที่มีคุณค่า ครบ 5 หมู่ และหลากหลายก็จะช่วยให้มีสุขภาพดี ห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้

แหล่งข้อมูล : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

19 พฤศจิกายน 2567

Related posts

Leave a Comment

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Social media & sharing icons powered by UltimatelySocial