บทความ

สิ่งที่ควรรู้ “ความเชื่อผิด ๆ เรื่องเพศสัมพันธ์”

การมีความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการคุมกำเนิด อาจส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจในระยะยาว เช่น การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ดังนั้น การทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ให้ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดี มีสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ “ความเชื่อผิด ๆ เรื่องเพศสัมพันธ์” ที่ควรหลีกเลี่ยง ดังนี้

1)  ผู้หญิงจะไม่ท้องถ้าผู้ชายหลั่งข้างนอก ?

เป็นความเชื่อที่ผิด เนื่องจากการหลั่งภายนอกไม่ใช่วิธีการคุมกำเนิด จึงมีโอกาสการตั้งครรภ์สูง เพราะอสุจิอาจเข้าไปในช่องคลอดพร้อมกับน้ำคัดหลั่ง

2)  ผู้หญิงจะไม่ท้อง ถ้ามีเพศสัมพันธ์ในขณะที่มีประจำเดือน ?

เป็นความเชื่อที่ผิด การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงมีประจำเดือนก็สามารถตั้งครรภ์ได้ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีรอบเดือนมาไม่ปกติ หรือมาไม่สม่ำเสมอทุกเดือน เพราะหลังจากมีเพศสัมพันธ์เชื้ออสุจิจะอยู่ในร่างกายผู้หญิงได้นานถึง 3 วัน หากผู้หญิงบางคนมีไข่ตกในช่วงนี้ก็จะเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้ นอกจากนี้ การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างมีประจำเดือนมีความเสี่ยงต่อการติดโรคทางเพศสัมพันธ์หรือติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะผู้หญิงมีโอกาสติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน หรือมดลูกอักเสบได้

3)  การใช้น้ำอัดลมทำความสะอาดช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์ ทำให้ไม่ท้อง ?

เป็นความเชื่อที่ผิด น้ำอัดลมไม่มีผลในการทำลายอสุจิ การล้างช่องคลอดไม่ใช่วิธีการคุมกำเนิด เพราะในระหว่างมีเพศสัมพันธ์มีอสุจิออกมาปะปนกับสารคัดหลั่งและอาจเล็ดลอดเข้าไปผสมกับไข่ได้ นอกจากนี้ การใช้น้ำอัดลมทำความสะอาดช่องคลอด อาจทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อได้

4)  การสวนล้างช่องคลอด จะไม่ท้อง ?

เป็นความเชื่อที่ผิด การใช้น้ำสวนล้างคราบอสุจิในช่องคลอด นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังทำให้ภายในช่องคลอดได้รับบาดเจ็บและมีโอกาสติดเชื้อต่าง ๆ สูง

5)  นับหน้า 7 หลัง 7 แล้วปลอดภัยแน่นอนมีเพศสัมพันธ์ได้ ?

เป็นความเชื่อที่ผิด วิธีการนับระยะปลอดภัยนี้ ไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพสูงและไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ โดยบางคนอาจเข้าใจผิดหรือนับผิดพลาด หรือบางครั้งประจำเดือนอาจมาไม่สม่ำเสมอ

                ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการมีเพศสัมพันธ์ และลดความเสี่ยงจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมควรใช้ถุงยางอนามัยและยาคุมกำเนิดอย่างถูกวิธีทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคู่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ นอกจากนี้ ควรตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และได้รับการตรวจรักษาอย่างทันท่วงทีเมื่อพบความผิดปกติ

แหล่งข้อมูล : สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย(สวท) ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

28 มกราคม 2568

Related posts

Leave a Comment

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Social media & sharing icons powered by UltimatelySocial