“SOS เยาวชนไทย” : ถอดรหัสภัยเงียบ NCDs ที่คุกคามคนรุ่นใหม่

โรคร้ายที่มากับไลฟ์สไตล์สมัยใหม่
รู้หรือไม่ว่า การใช้ชีวิตแบบไร้กังวลอาจกำลังส่งสัญญาณอันตรายที่คุณมองข้าม? โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) กำลังคืบคลานเข้าใกล้เยาวชนไทยมากขึ้นทุกวัน ข้อเท็จจริงที่น่าวิตกกังวล คือ มีเด็กและวัยรุ่นจำนวนไม่น้อย เสียชีวิตจากโรคที่สามารถป้องกันได้ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3 พฤติกรรมเสี่ยง ที่คุณอาจกำลังทำโดยไม่รู้ตัว !
- การกินแบบไม่คิด สำรวจตู้เย็นและถุงขนมแล้วพบแต่อาหารเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ เครื่องดื่มรสหวานที่เต็มไปด้วยน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง ที่กำลังทำร้ายร่างกายโดยไม่รู้ตัว
- ชีวิตติดหน้าจอ การนั่งเรียนออนไลน์ เล่นเกม การขาดการเคลื่อนไหว กำลังบั่นทอนสุขภาพอย่างช้า ๆ
- ขาดกิจกรรมทางกาย เมื่อเราใช้เวลากับหน้าจอมากเกินไป ทำให้ขาดการขยับเคลื่อนไหวและขาดกิจกรรมทางกายที่จำเป็นต่อพัฒนาการ
ภัยเงียบที่รออยู่ในอนาคต เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ปัญหาสุขภาพจิต และภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
สกัดกั้นอย่างไร…ก่อนสายเกินแก้
- กินอย่างชาญฉลาด เลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ กินครบ 5 หมู่ แต่พอดีและหลากหลาย ลดขนมหวาน น้ำอัดลม และเครื่องดื่มรสหวานจัด
- เคลื่อนไหวให้มากขึ้น ออกกำลังกาย 30 นาที/วัน สัปดาห์ละ 3-5 วัน เลือกกิจกรรมที่สนุก เช่น เต้น ปั่นจักรยาน วิ่ง และชวนเพื่อนหรือครอบครัวมาออกกำลังกายด้วยกัน
- จัดการเวลาหน้าจอ จำกัดเวลาเล่นเกม/โซเชียล 1-2 ชั่วโมง/วัน หมั่นพักสายตา ทำกิจกรรมนอกบ้าน เชื่อมความสัมพันธ์ครอบครัว เช่น ไปเดินเล่น หรือไปเที่ยวกับครอบครัว
- สำหรับการเรียนออนไลน์ ควรจัดท่านั่งที่ถูกต้อง ใช้โต๊ะและเก้าอี้ที่เหมาะสม พักสายตาทุก 20 นาที ปรับแสงสว่างให้พอดี และเพิ่มการเคลื่อนไหวระหว่างคาบเรียน เช่น ยืดเส้นยืดสาย เดินเล่นสั้น ๆ
โรคภัย ไม่ใช่โชคชะตา แต่เป็นผลจากวิถีชีวิตที่เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ “ก้าวแรกของการป้องกัน คือ ความใส่ใจในตัวเอง” ถึงเวลาที่เราทุกคนจะต้องใส่ใจพฤติกรรมสุขภาพ ก่อนที่โรคร้ายจะกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวเกินไป
แหล่งข้อมูล : องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF), คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี