วัยรุ่นว่าไง หวานแบบนี้…ร่างกายไม่ปลื้มนะ !

เคยสังเกตไหมว่า เรากินหวานกันเยอะกว่าที่คิด ไม่ใช่แค่ขนมที่ทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาล แต่ของกินที่เรากินประจำก็แอบซ่อนน้ำตาลไว้เพียบ น้ำตาลพวกนี้ ถ้าเผลอกินเยอะเกินไป ร่างกายคงแอบร้องไห้เบา ๆ โดยปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมต่อวัน สำหรับเด็กและผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป อยู่ที่ ไม่เกิน 16 กรัมหรือ 4 ช้อนชา และสำหรับวัยรุ่นหญิง ชาย อายุ 14 – 25 ปี อยู่ที่ ไม่เกิน 24 กรัม หรือ 6 ช้อนชา
เมนูยอดฮิตที่แอบใส่น้ำตาลเยอะ
ตัวอย่างเมนูที่แอบมีน้ำตาลแฝงอยู่เยอะ ซึ่งไม่ได้แปลว่าของพวกนี้ไม่ดี แต่ถ้ากินบ่อยหรือกินในปริมาณมากเกินไป ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ เช่น
เมนู | จำนวน/หน่วย | มีน้ำตาลประมาณ |
ชานมไข่มุก นมชมพู โกโก้ แดงโซดา | 1 แก้ว | 10-12 ช้อนชา |
น้ำอัดลม | 1 กระป๋อง | 8 ช้อนชา |
คัพเค้ก โดนัท บราวนี่ | 1 ชิ้น | 6-7 ช้อนชา |
ไอศกรีม | 1 โคน | 6 ช้อนชา |
ข้าวหมูแดง ส้มตำไทย | 1 จาน | 4 ช้อนชา |
นมเปรี้ยวขวดเล็ก | 1 ขวด | ช้อนชา |
นอกจากนี้ ยังมีเมนู ขนมปังไส้หวาน ที่เป็นแป้งขัดขาวก็เปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้ไว และเมนูที่มี น้ำจิ้ม ซอสต่าง ๆ เช่น ซอสมะเขือเทศ ซอสบาร์บีคิว น้ำจิ้มสุกี้ ก็ล้วนมีน้ำตาลแฝงอยู่เช่นกัน
แล้วถ้ากินหวานเกินไป…จะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกาย ?
- อ้วนเร็ว เสี่ยงเบาหวานตั้งแต่วัยรุ่น เพราะน้ำตาลที่ใช้ไม่หมดจะสะสมเป็นไขมัน ทำให้น้ำหนักขึ้นและเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ
- สิวขึ้นง่าย น้ำตาลกระตุ้นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดสิว หน้ามัน และอักเสบได้ง่าย
- ฟันผุเร็ว แบคทีเรียในปากชอบน้ำตาลสุด ๆ มันจะสร้างกรดกัดฟัน ทำให้ฟันผุโดยไม่รู้ตัวง่วงง่าย สมองไม่แล่น ไม่สดชื่น โดยเฉพาะในช่วงบ่าย
- แก่ไว น้ำตาลจะทำลายโครงสร้างของคอลลาเจนและอีลาสตินที่อยู่ในชั้นผิว จนทำให้เซลล์ผิวสูญเสียความยืดหยุ่น ผิวไม่กระชับเต่งตึง เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น
อยากหวานแบบไม่เสี่ยง ทำยังไงดี ?
- ซื้อเครื่องดื่มทุกครั้ง สั่งหวานน้อย ลองปรับทีละนิด ลดความหวานทีละระดับ
- ลดน้ำอัดลม เปลี่ยนเป็นน้ำเปล่าแทน
- อ่านฉลากก่อนซื้อ ถ้าเห็นน้ำตาลอยู่อันดับต้น ๆ ให้เลี่ยง
- กินผลไม้แทนขนม ได้ความหวานธรรมชาติ แถมได้ไฟเบอร์และวิตามินด้วย
หวานแค่ไหนก็ไม่ผิด แต่ถ้าหวานเกินไปร่างกายคงไม่ปลื้มแน่นอน รู้ทันน้ำตาล กินอย่างพอดีก็จะช่วยให้สุขภาพดี ผิวใส หุ่นเป๊ะ มีแรงเต็มร้อย จะเรียน จะเล่น หรือจะทำกิจกรรมไหน ก็ไม่มีล้าแน่นอน
แหล่งข้อมูล : สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย, โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต, สำนักโภชนาการ กรมอนามัย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)