โรคลมแดด “ร้อนเกินไป…อันตรายต่อเด็ก”
ในช่วงฤดูร้อนที่มีอากาศร้อนจัดและอบอ้าว การอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจนเกินไป อาจเกิดความเสี่ยง ที่จะเป็นลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heat stroke) ได้ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องดูแลใส่ใจเป็นพิเศษ โรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรก คือ ภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส เกิดจากการที่อยู่ในสถานที่มีอากาศร้อนมาก ๆ การได้รับแสงแดดหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงเป็นเวลานาน ร่างกายไม่สามารถปรับตัวลดอุณหภูมิให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ส่งผลเสียต่อระบบประสาท หัวใจ และไต เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ การสังเกตอาการผิดปกติของเด็ก คือ ร่างกายไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัด อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก ผิวหนังแดง วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง เดินโซเซ คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน หัวใจเต้นเร็วและแรง อาจมีอาการชัก และหมดสติ ดังนั้น ในช่วงเข้าฤดูร้อน อากาศร้อนอบอ้าว สามารถป้องกันโรคลมแดดในเด็กได้ ดังนี้
- ให้เด็กดื่มน้ำบ่อย ๆ ทุกชั่วโมง และหลีกเลี่ยงการให้ดื่มเครื่องดื่มรสหวานจัด
- ให้เด็กสวมชุดเสื้อผ้าสีอ่อน ๆ เนื้อผ้าเบา โปร่งสบาย ระบายความร้อนได้ดี
- ลดกิจกรรมที่ต้องออกแรงหรือใช้กำลังกลางแจ้ง
- ไม่ควรทิ้งเด็กไว้ในรถที่จอดกลางแจ้ง หรือจอดตากแดดตามลำพังโดยเด็ดขาด
- หมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กอย่างเคร่งครัด
- หากเกิดอาการของโรคลมแดด ควรดูแลเบื้องต้น ดังนี้
- รีบนำเด็กเข้าในที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเททันที
- ให้เด็กนอนราบแล้วยกเท้าทั้งสองข้างให้สูง เพื่อให้เลือดไหลเวียนสะดวกขึ้น
- ถ้าอาเจียนให้นอนตะแคงก่อน เสร็จแล้วให้นอนหงาย
- คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก เช่น ปลดกระดุมเสื้อ หากเสื้อผ้าหนาให้ถอดออก เพื่อระบายอุณหภูมิในร่างกาย
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบ ตามซอกลำตัว คอ รักแร้ ศีรษะ เพื่อระบายความร้อน ร่วมกับการพัด หรือใช้พัดลมเป่า เพื่อช่วยลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลง
- หากเด็กยังมีสติอยู่บ้าง ควรให้เด็กได้จิบน้ำบ่อย ๆ แต่ถ้าเด็กหมดสติ ควรหลีกเลี่ยงการป้อนน้ำเพราะจะทำให้เกิดอาการสำลัก
- นำเด็กส่งโรงพยาบาลทันที
การเกิดภาวะของโรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรก เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันของเด็ก ๆ เมื่อต้องเผชิญกับแสงแดด อากาศที่ร้อนอบอ้าว หรือกิจกรรมกลางแจ้ง แต่หากพ่อแม่ ผู้ปกครองดูแลและป้องกันเด็กในช่วงเวลาของฤดูร้อนนี้ ก็จะทำให้เด็กอยู่กับฤดูร้อนได้อย่างปลอดภัยจากอันตรายของโรคลมแดด
แหล่งข้อมูล : 1) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 3) สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี